ความรู้

อุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์

อุปกรณ์ยึดโครงสร้างเฟอร์นิเจอร์แบบถอดประกอบ (Knock-down fitting)หรือแบบใช้ยึดติดตายตัว ส่วนใหญ่อุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์จะซ่อนภายในโครงสร้างซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก และอุปกรณ์ที่เห็นจากภายนอก ซึ่งจะให้ความแข็งแรงเท่ากับเดือยกลมและเดือยเหลี่ยม อุปกรณ์ประกอบเฟอร์นิเจอร์ที่นิยมใช้โดยทั่วไป เช่น อุปกรณ์ยึดแผ่นไม้ อุปกรณ์ยึดมุมโครงสร้างตู้ บานพับชนิดต่างๆ อุปกรณ์ล็อกบานต่างๆเป็นต้น

 

 

 

 

อุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์มีทั้งหมด 10 ประเภท คือ

1.บานพับ (Hinge) ซึ่งมีหลายแบบ หลายขนาด แต่ละชนิดมีคุณลักษณะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับขนาดของบานตู้และความต้องการของการใช้งานที่จะให้บานเปิด-ปิดได้นั้นกว้างเท่าไหร่ กี่องศา บานพับที่นิยมใช้มีดังนี้

1.1 บานพับแบบปีกผีเสื้อ (Butt hinge or roll hinge) เป็นบานพับมีแกนกลางเป็นแท่งกลมมีแผ่นปีก 2 ข้าง บนปีกจะมีรูสำหรับติดตะปูเกลียวยึดกรอบบานไม้กับตัวบาน บานพับชนิดนี้มีขนาดเล็ก ใหญ่ ยาว สั้นต่างๆกัน  เหมาะสำหรับติดบานที่ต้องรับน้ำหนักมากและงานที่ประณีต

 

บานพับแบบปีกผีเสื้อ

 

1.2 บานพับเขี้ยว (Invisible cylinder hinge or concealed hinge) เป็นบานพับชนิดหนึ่งที่ซ่อนไม่เห็นตัวบานพับทางด้านนอกของตู้ เหมาะกับบานพับในขอบ โดยการฝังตัวยึดไว้ที่กรอบบาน และกรอบตัวแกนบานจะซ่อนซ้อนกันในตัวเอง บานพับชนิดนี้รับน้ำหนักได้ไม่มากนัก จึงเหมาะกับตู้ขนาดเล็กที่มีน้ำหนักเบา องศาในการเปิดสามารถเปิดได้ถึง 180 องศา 

 

 บานพับเขี้ยว

 

1.3 บานพับซ่อนหรือบานพับถ้วย (Adjustment hinge or concealed hinge) เป็นบานพับที่นิยมกันมากในปัจจุบัน เนื่องจากมีรูปทรงที่สวยงาม แข็งแรง ใช้งานได้ดี ติดตั้งได้ง่าย สะดวกและรวดเร็ว บานพับชนิดนี้จะสามารถตั้งบานให้สูง-ต่ำหรือเข้า-ออกได้โดยมีส่วนที่สามารถปรับแต่งบานได้ในกรณีที่บานตก องศาในการเปิดมีมากมาย เช่น 250,180,175,95 และ 92 องศา สามารถใช้กับบานริมทับขอบ บานในขอบ บานกลางทับขอบ หรือจะทับเข้ามุม

 บานพับซ่อนหรือบานพับถ้วย

 

1.4 บานพับแบบจุดหมุนเดียว หรือบานพับแบบตู้เย็น (Pivot hinge) เป็นบานพับที่มีแกนหมุนสำหรับตัวแขนยึดบานกับกรอบบาน จะมีตำแหน่งยึดด้านบนและในบานเพื่อเป็นการซ่อนตัวเองไว้ บานพับชนิดนี้มีความแข็งแรง รับน้ำหนักได้มาก มีทั้งแบบที่กำหนดมุมกว้างของบานเปิดได้ และกำหนดมุมกว้างของบานเปิดไม่ได้

 

บานพับแบบจุดหมุนเดียว

 

1.5 บานพับสำหรับกระจก (Glass door hinge) การยึดติดบานพับกับตู้จะมีแกนหรือแขนยึดติดกับตัวตู้ แต่แขนยึดติดกระจกอีกข้างจะมีแป้นรับกระจกด้วยฝาครอบ ตัวฝาครอบจะมีหลายรูปแบบ เช่น รูปแป้นกลม รูปสี่เหลี่ยม ขึ้นอยู่กับบริษัทผู้ผลิต มีทั้งโลหะและพลาสติก บานพับกระจกอีกชนิดหนึ่งจะมีแกนหมุนโดยฝังแกนหมุน บานพับนี้จะยึดกระจกด้วยกรอบโลหะหรือพลาสติก การยึดจะยึดโดยการขันนอตแผ่นบานกระจกกับกระจกเลื่อน โดยยึดบานตู้ทางด้านบนและด้านล่างของตู้ บานพับสำหรับกระจกยังใช้กับบานพลาสติกได้ด้วย

 

บานพับสำหรับกระจก

1.6 บานพับแบบข้อศอก หรือบานพับแบบจักร (Flap hinge) เป็นบานพับที่ใช้สำหรับติดประกอบเฟอร์นิเจอร์ที่ต้องการเปิดในแนวขึ้น-ลง ซึ่งต้องใช้รวมกับแขนหรือตัวรับบาน ซึ่งจะช่วยรับน้ำหนักบานได้อีกทีหนึ่ง แขนกับบานจะมีหลายรูปแบบมีทั้งแขนที่รับในขณะบานเปิดขึ้น(Lid stay) หรือแขนที่รับน้ำหนักบานขณะเปิดลง(Flap stay)

 

บานพับแบบข้อศอก

 

2.ตัวล็อกหรือตัวหยุดบานตู้ (Catches) อุปกรณ์ที่ใช้คู่กับบานเปิด คือ ตัวหยุดบานแบบง่ายๆ อาจใช้ไม้ชิ้นเล็กๆติดที่ตัวตู้เพื่อไม่ให้บานตู้ผลุบเข้าด้านใน  ในปัจจุบันมีตัวหยุดบานหลายชนิด เช่น ตัวล็อกบานแบบก้ามปู แบบกดกระเด้ง แบบแม่เหล็ก แบบลูกปืน เป็นต้น การล็อกตัวบานไม่ให้หลุบเข้าไปในตัวตู้อาจไม่ต้องใช้อุปกรณ์ก็ได้ แต่จะต้องออกแบบโครงสร้างของตัวตู้สามารถบังคับหน้าบานได้ด้วยการออกแบบ

 

ตัวล็อกหรือตัวหยุดบานตู้

 

 

3.ปุ่มรับชั้น (Shelf support) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้รับชั้นภายในตู้ ทำด้วยพลาสติกหรือโลหะ มีหลายลักษณะ ใช้สำหรับรับชั้นไม้หรือชั้นกระจก ปุ่มรับชั้นบางชนิดจะต้องใช้กับราวชั้นเพื่อรับน้ำหนักได้มากขึ้น เช่น ชั้นวางหนังสือ เป็นต้น

 

ปุ่มรับชั้น

 

 

4.อุปกรณ์เลื่อนลิ้นชัก (Drawer runner) เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเลื่อนลิ้นชักได้สะดวกขึ้น ติดไว้ข้างลิ้นชัก มีหลายขนาด หลายสีให้เลือกมากมาย มีชนิดรางชั้นเดียวและรางหลายชั้น รางชั้นเดียวจะไม่สามารถดึงลิ้นชักออกมาได้จนสุดลิ้นชัก ถ้าต้องการดึงลิ้นชักออกมาได้มากจะต้องเลือกรางชนิดหลายชั้น โดยการเลือกจะต้องเลือกความยาวของราง การับน้ำหนักของลิ้นชักและสิ่งของที่ใส่ในลิ้นชักให้เหมาะสมกับการใช้งาน

 

 อุปกรณ์เลื่อนลิ้นชัก

 

5.อุปกรณ์เลื่อนบานตู้ (Sliding door fitting) ใช้สำหรับบานตู้ที่ต้องการเปิดโดยการเลื่อนไปซ้ายและขวา หรือเลื่อนและเปิดออกทางด้านข้าง ด้านหน้าแบบลิ้นชักหรือเลื่อนแล้วพับไว้ ขึ้นอยู่กับความต้องการในการใช้งาน ซึ่งมีการทำงานหลายระบบ เช่น การเคลื่อนโดยให้บานเปิดพับไปด้านข้าง การเลื่อนโดยให้บานเปิดเลื่อนไปทางซ้ายหรือทางขวา การเลื่อนโดยให้บานซ่อนไว้ที่ข้างตู้ และการเลื่อนโดยบานตู้ม้วนไปด้านข้าง หรือด้านหลังตู้

 

 อุปกรณ์เลื่อนบานตู้

 

6.อุปกรณ์สำหรับขยายหน้าโต๊ะ (Pull-out table fitting) เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยขยายเพิ่มเนื้อที่หน้าโต๊ะ ในการทำงานมีหลายรูปแบบ และสามารถรับน้ำหนักได้ดีต่างกัน

 

อุปกรณ์สำหรับขยายหน้าโต๊ะ

 

7.โคมไฟที่ใช้กับเฟอร์นิเจอร์ (Cabinet light) เป็นไฟที่ใช้กับเฟอร์นิเจอร์ เช่น ใต้ตู้แขวนชุดครัว ภายในตู้เสื้อผ้า ตู้โชว์ต่างๆ มีหลายลักษณะรูปแบบ

 

โคมไฟที่ใช้กับเฟอร์นิเจอร์

 

8.ล้อ (Furniture castor) เป็นอุปกรณ์จำเป็นสำหรับเฟอร์นิเจอร์อีกชนิด ที่ช่วยในการเคลื่อนที่มีหลานลักษณะ หลายชนิด และการรับน้ำหนักที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับลักษณะงาน ล้อบางชนิดสามารถล็อกล้อไม่ให้เคลื่อนที่ได้

 

ล้อ

 

9.กุญแจ (Locking system) ใช้สำหรับล็อกบานตู้หรือลิ้นชัก มีหลายชนิด เช่น ล็อกเพียงลิ้นชักเดียว ล็อกหลายๆลิ้นชักพร้อมๆกัน ล็อกบานตู้แบบต่างๆ เป็นต้น

 

กุญแจ

 

10.มือจับ (Handle) ใช้ติดกับลิ้นชักหรือบานตู้ มีลักษณะต่างๆกัน มากมาย ทำด้วยวัสดุหลายชนิด เช่น ไม้ โลหะ พลาสติก มีรูปร่างลักษณะต่างๆ มากมายให้เลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมกับเฟอร์นิเจอร์นั้นๆ

 

มือจับ (Handle)

 

TRICK

         ข้อต่อหรือจุดเชื่อมต่างๆ ในงานเฟอร์นิเจอร์ไม่ว่าจะเป็นวัสดุชนิดเดียวกันหรือวัสดุต่างชนิดกันจะต้องมีจุดเชื่อมต่อที่แข็งแรง มั่งคงเหมาะสมกับรูปทรงที่สวยงาม การเลือกจุดเชื่อม ข้อต่อหรืออุปกรณ์ยึดในลักษณะต่างๆ แบบใดนั้น ผู้เลือกควรจะมีความรู้และได้ศึกษาข้อต่อหรืออุปกรณ์ยึดในด้านความแข็งแรง การรับแรงต่างๆ ลักษณะและขีดจำกัดของอุปกรณ์การถอดประกอบ กระบวนการผลิต ความสวยงามของอุปกรณ์ที่มีเฟอร์นิเจอร์ไม่ว่าจะมองเห็นอุปกรณ์จากภายนอกหรืออุปกรณ์ที่ซ่อนในโครงสร้าง เพื่อเฟอร์นิเจอร์นั้นยังคงความงาม ประณีต ตลอดจนราคาที่เหมาะสมซึ่งเป็นการเสริมให้เฟอร์นิเจอร์นั้นมีคุณค่าในตัวของมันเอง

 

ตัวอย่างการติดตั้งอุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์

ตัวอย่างการติดตั้งอุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์

 

 อ้างอิงโดยหนังสือ ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ Furniture Design สำนักพิมพ์ ส.ส.ท. แต่งโดย รศ.วรรณิภัค สหสมโชค

                                                                                                                                                                                                                                               จัดทำโดย

ร้านไพศาลศิลป์เฟอร์นิเจอร์

(www.pss-furniture.com)

23/06/2016